ปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก จากรายงานสรุปความเสียหายจากอุทกภัยโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย แสดงให้เห็นว่ามีการใช้งบทดลองราชการเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมและดินถล่มจังหวัดเชียงราย ที่สามารถให้ทุกภาคส่วนใช้วางแผนในการรับมือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งลดความเสียหายทำให้การใช้งบทดลองราชการให้กับผู้ประสบภัยน้อยลง
สืบเนื่องจาก ปี พ.ศ. 2557 จังหวัดเชียงรายได้ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำได้จัดทำโครงการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ สำหรับเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและกำหนดทิศทางของการพัฒนาทรัพยากรน้ำของจังหวัด โดยมีข้อมูลในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และบูรณาการสู่แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดในภาพรวม โดยได้สร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำร่วมกันในระดับพื้นที่ และกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ของจังหวัดอย่างยั่งยืน และสนองตอบความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบโดยรวม โดยปัญหาหนึ่งในที่พบมากและประชาชนต้องการให้มีการแก้ไข คือ การอนุรักษ์และพัฒนาลำน้ำคูคลองให้กลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเดิม โดยปัญหาที่เกิดกับลำน้ำคูคลองที่เห็นได้ชัดและเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ได้แก่ ปัญหาการกีดขวางทางน้ำ การถูกบุกรุกของลำน้ำคูคลอง ถนนขวางทางน้ำ จนทำให้ลำน้ำขาดศักยภาพการระบายน้ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสีย โดยปัญหานี้จะเพิ่มและรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วและเกิดปัญหาการกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองจำนวนมากกระจายทั่ว โดยในแต่ละปีทางภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่มีความยั่งยืน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลนั้น จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการร่วมกับองค์ความรู้ของชุมชนในฐานะเจ้าของพื้นที่ ในการวางแผนแก้ปัญหาการกีดขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกันตลอดลำน้ำ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาลำน้ำคูคลอง ทางระบายน้ำให้กลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเดิม โดยสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดกับลำน้ำคูคลอง จึงจำเป็นต้องจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของลำน้ำคูคลอง และถนน โดยเฉพาะปัญหาการกีดขวางทางน้ำ ตำแหน่งและลักษณะที่ถูกบุกรุก ลุกล้ำ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำคัญในกำหนดรูปแบบของการวางแผนแก้ไขปัญหาลำน้ำคูคลองถูกบุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และลงมือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน
และด้วยบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณภูมิประเทศลาดชันของพื้นที่ที่เป็นภูเขา ซึ่งมีแนวโน้มในการพังทลายของบริเวณดังกล่าวทั้งในส่วนที่เป็นดินตัดและดินถม โดยเฉพาะในที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ โดยการพังทลายของพื้นที่ลาดจะเกิดขึ้นในฤดูฝนเนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่าง ในปัจจุบันจังหวัดเชียงรายยังไม่มีแผนที่เขตเสี่ยงภัยดินถล่ม (Landslide hazard zonation map) ของบริเวณพื้นที่ลาดชันเหล่านี้ ซึ่งการแก้ไขโดยส่วนใหญ่เป็นเพียงการซ่อมแซมและจัดการบริเวณที่มีการพังทลายเฉพาะหน้า ภายหลังจากการเกิดการพังทลายแล้ว จากการที่ไม่มีระบบการจัดการกับการพังทลายของบริเวณความลาดอย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว อีกทั้งต้องเสียงบประมาณและเวลาในการจัดการบริเวณที่มีการพังทลายแล้ว ดังนั้นการพัฒนาแผนที่เขตเสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่เป็นลาดเชิงเขาจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงของการพังทลายของพื้นลาดเชิงเขาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การจัดการและบริหารงานของสถานที่ท่องเที่ยวอยู่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มของจังหวัดเชียงรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมและดินถล่มจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ระบบข้อมูลของสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองและถนน และกำหนดรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางน้ำในแต่ละแห่ง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการรวบรวมตำแหน่งที่เกิดปัญหาการกีดขวางทางน้ำและวิธีการแก้ปัญหา มีการวางแผนการระบายน้ำให้เป็นระบบต่อเนื่องกัน ไม่ให้เกิดปัญหากับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ และมีระบบการจัดการเสถียรภาพความลาดบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นลาดเชิงเขา เพื่อวางแผนการใช้พื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาจากดินถล่ม จะสามารถทำให้ลดความเสียหายจากภัยน้ำท่วมและดินถล่มได้อย่างถูกหลักวิชาการ
ระบบสารสนเทศเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมและดินถล่ม